ประชาสัมพันธ์

ขนส่งพิษณุโลก เล็งใช้สองแถวเหมือนรถแดงเชียงใหม่ วิ่งแทนรถเมล์พิษณุโลก

ขนส่งเมืองสองแควเล็งรื้อหลักเกณฑ์สัมปทานเดินรถรอบเมืองใหม่ หลัง “รถเมล์บ้านเรา” ประกาศเลิกกิจการสิ้นพฤศจิกายน 57 นี้ทั้ง 11 สาย เปิดทางให้สองแถววิ่งแทนเหมือน “รถแดง-เชียงใหม่”



วันนี้ (20 ส.ค.) นายปราการ มสิกพรรค์ นักวิชาการขนส่งชำนาญการพิษณุโลก เปิดเผยในงานแถลงข่าวสื่อมวลชนที่โรงแรมวังแก้ว จ.พิษณุโลก กรณี “รถเมล์บ้านเรา” ที่เคยวิ่งบริการรอบเมืองพิษณุโลก ประกาศยุติให้บริการทุกสาย 30 พ.ย.นี้ว่า มีผู้ประกอบการขนส่งหน้าใหม่สนใจ และโทร.มาสอบถาม เบื้องต้นจะต้องเปิดรับคำขอใบอนุญาต คือหาผู้ประกอบการใหม่แทน แต่มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางประการ

ซึ่งเดิมมาตรฐานรถที่กำหนดไว้ใน 11 เส้นทางของพิษณุโลกบริการ จำกัด เป็นรถขนาดมินิบัส มีที่นั่ง-ที่ยืน และเงื่อนไขการเดินรถที่กำหนดไว้เดิม ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หากประกาศรับคำขอใหม่ในเงื่อนไขลักษณะมินิบัสเช่นเดิม จะไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นคำขอ เพราะไม่สามารถหารถที่มีมาตรฐานดังกล่าวได้

จึงต้องตรวจสอบปรับปรุงรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ เช่น การเดินรถ, เวลา, จำนวนเที่ยว, อัตราค่าโดยสาร และมาตรฐานใหม่เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกพิษณุโลกภายในเดือนสิงหาคม 57 นี้

จากนั้นขนส่งจังหวัดพิษณุโลกจึงจะประกาศยื่นหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 30 วันภายในเดือนกันยายน 57 นี้ ก่อนออกใบอนุญาต

“ช่วงนี้ขนส่งพิษณุโลกจึงจำเป็นต้องเร่งจัดทำหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ทันเวลาเพื่อนำผู้ประกอบการรายใหม่ทั้ง 11 สายเดินรถได้ทันภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 57 นี้ หรือแทนรถเมล์บ้านเราที่ยกเลิกไปพอดี”



แหล่งข่าวเปิดเผยว่า “รถเมล์บ้านเรา” วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสายในเมืองและนอกเมืองด้วยรถมินิบัสมานาน เครื่องยนต์เก่า ต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลา 52 ปี จึงไม่สามารถแบกภาระต้นทุนค่าน้ำมันที่แพงได้ ประกอบกับเป็นรถใหญ่ วิ่งบนถนนไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน คาดว่าขนส่งพิษณุโลกจะปรับปรุงหลักเกณฑ์รถยนต์รูปแบบใหม่ คือ โละทิ้งมินิบัส ปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นรถกระบะสองแถว (เหมือนรถแดง จ.เชียงใหม่) นำมาวิ่งแทนรถเมล์บ้านเรา

โดยให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตสัมปทานเส้นทางอย่างอิสระ อาจจะยื่น 1 เส้น หรือ 2 เส้น หรือทั้ง 11 เส้นก็ได้ จากนั้นค่อยมาพิจารณารายที่มีประสบการณ์ และความสามารถ แต่รถกระบะสองแควต้องวิ่งอยู่ในเส้นทางที่กำหนด ห้ามออกนอกเส้นทาง และใช้อัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้มินิบัสเดิม

อนึ่ง “รถเมล์บ้านเรา” ก่อตั้งโดยนายอรุณ ภักดิ์ประไพ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2505 เป็นกิจการที่บริหารงานในรูปแบบครอบครัว ลูกหลานผลัดเปลี่ยนเข้ามาบริหารงานหลายรุ่น กระทั่งนายนรินทร์ศักดิ์ บูรณะเขตต์ เข้าบริหารปี 56 ก่อนแจ้งยกเลิกสัมปทานเดินรถสิ้นเดือนพฤศจิกายน 57 นี้

เนื่องจากค่าน้ำมันแพง สังคมเปลี่ยนไปมาก ถนนเท่าเดิม และสภาพการจราจรหนาแน่น อีกทั้งการบริหารเป็นแบบกงสี จนไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนสะสมได้

Phitsanuloklife


แท๊ก :

0 Comments