ประชาสัมพันธ์

IPv6 ป่วนธุรกิจเน็ตแบกต้นทุนเพิ่ม ผู้ใช้บรอดแบนด์โดนหางเลขต้องเปลี่ยน"โมเด็ม"

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรับศึกหนักต้องแบกต้นทุนเพิ่ม เพื่อลงทุนให้เน็ตเวิร์กรองรับ "ไอพีวี 6" ควบคู่ไปกับ IPv4 เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของ เว็บไซต์บนโลกออนไลน์ ขณะที่ ลูกค้าที่ใช้บรอดแบนด์ตามบ้านก็ต้องเปลี่ยนโมเด็มใหม่ "ทรู" เตรียมจัดหาอุปกรณ์ราคาพิเศษเสนอให้ลูกค้า
จาก กรณีที่ IP address ซึ่งเป็นเสมือนบ้านเลขที่เพื่อระบุตำแหน่งของเว็บไซต์บนโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นระบบ IPv4 กำลังจะหมดลง ทำให้ได้มีการพัฒนาระบบ IPv6 เพื่อมารองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนเว็บไซต์ ส่งผลให้ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) เว็บโฮสติ้งไปจนถึงเจ้าของเว็บไซต์ จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงระบบให้รองรับกับเว็บไซต์ใหม่ ๆ ที่ใช้ไอพีวี 6

โดยในงานสัมมนา "ก้าวสู่จุดเปลี่ยน ไอพีวี 6 ประเทศไทย" นายวสันต์ เสนาะกรรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมสื่อสารข้อมูล บมจ.กสท โทรคมนาคมกล่าวว่า โครงข่ายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการได้ออกแบบรองรับการ ทำงานบนไอพีวี 6 อย่างสมบูรณ์มาแต่แรกแล้ว ขณะที่บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ของ กสทฯ ที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศนั้น ปัจจุบันเชื่อมต่อผ่านระบบไอพีวี 6 อยู่แล้ว ส่วนอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ หากเป็นองค์กรก็สามารถใช้งานไอพีวี 6 ได้ทันที แต่ถ้าเป็นลูกค้าบริการบรอดแบนด์ประเภทที่พักอาศัย เพิ่งเริ่มปรับระบบให้รองรับไอพีวี 6 เนื่องจากปัจจุบันอุปกรณ์ปลายทางและโมเด็มที่ลูกค้าใช้ยังไม่พร้อมรองรับการ ใช้งานไอพีวี 6

ด้านนายธนิตย์ ชัยยะบุญธนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารคุณภาพบริการด้านเทคนิค บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า โครงข่ายหลักของบริษัทพร้อมใช้งานได้ แต่อุปกรณ์ชุมสายยังต้องรอให้ผู้ผลิตอุปกรณ์อย่างหัวเว่ย, อีริคสัน ฯลฯ ผลิตอุปกรณ์ชุมสายที่สามารถใช้งานพร้อมกันได้ทั้งบนไอพีวี 4 และไอพีวี 6 ซึ่งตามแผนของเวนเดอร์ต่าง ๆ วางตลาดปลายปีนี้ ดังนั้นบริษัทจะนำอุปกรณ์มาทดสอบได้ประมาณไตรมาสแรก หลังจากนั้นจึงจะเริ่มทยอยติดตั้งในบางจุดที่เหมาะสมเพื่อให้บริการแก่ ลูกค้า

นอกจากนี้จะต้องดูความพร้อมของลูกค้าด้วย เพราะปัจจุบันลูกค้าโมบายดาต้ากว่า 50% ใช้เครื่องจีน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 40% เป็นเครื่องที่ไม่รองรับไอพีวี 6 จึงต้องอัพเกรดโครงข่ายให้ทำงานพร้อมกันได้ 2 ระบบ ซึ่งเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่นายธนะพล จันทวสุ รอง ผู้อำนวยการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เมื่อต้นปีบริษัทได้ไอพีแอดเดรสในระบบเดิมมาอีก 5 แสนเลขหมาย ซึ่งคาดว่าจะรองรับการใช้งานของลูกค้าองค์กรได้ถึง 3 ปี ขณะเดียวกันได้เริ่มโปรโมตให้ลูกค้ากลุ่มนี้หันมาใช้ระบบ ไอพีวี 6 แล้ว โดยลูกค้าองค์กรรายใหม่จะได้เลขหมายไอพีวี 6 ทันทีที่เปิดใช้บริการ ขณะที่รายเก่าหากแสดงความจำนงว่าต้องการใช้ก็พร้อมดำเนินการให้

"แต่ สำหรับลูกค้าที่ใช้บรอดแบนด์ตามบ้านก็จะมีปัญหาเหมือนผู้ให้บริการรายอื่น คืออุปกรณ์ปลายทางยังไม่รองรับ ขณะนี้กำลังประสานกับเวนเดอร์หาอุปกรณ์ซัพพอร์ตให้ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่ในส่วนของทรูก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มทั้งในส่วนของเราเตอร์และไว-ไฟ ฮอตสปอตในพื้นที่สาธารณะ ที่จะต้องเปลี่ยนให้รองรับการใช้งานได้ทั้ง 2 ระบบ ขณะนี้กำลังคำนวณงบฯลงทุนในส่วนนี้อยู่ คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง"

นอก จากนี้การที่ลูกค้ายังใช้ระบบไอพีเดิมอยู่ด้วย ยังเพิ่มภาระให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ระบุให้ต้องมีการเก็บข้อมูลจราจรไว้ตรวจสอบ 90 วัน ซึ่งทำให้ไอเอสพีต้องเก็บข้อมูลไว้ทั้ง 2 ระบบ

"หากคำนวณจากลูกค้า 8 แสนรายของบริษัทในปัจจุบัน เท่ากับว่าบริษัทต้องเก็บข้อมูลมากถึงวันละ 10 เทราไบต์ กลายเป็นต้นทุนที่ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ปกติจะถือเป็น 1 ใน 4 ของต้นทุนธุรกิจ"

ขณะที่ นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิปดอทคอม กล่าวว่า การลงทุนพัฒนาเว็บไซต์ให้รองรับไอพีวี 6 เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับเว็บพันทิปใช้งบฯไม่มาก เป็นการลงทุนซื้อเน็ตเวิร์กสวิตช์ใหม่ ส่วนเซิร์ฟเวอร์ 30 ตัว แค่อัพเกรดซอฟต์แวร์เพิ่ม ส่วนที่จะใช้เวลานานและใช้เงินลงทุนมากสุดคือการปรับแอปพลิเคชั่นของเว็บที่ ได้พัฒนาขึ้นมาเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางเทคนิคในการเปลี่ยนระบบไอพีไม่ใช่เรื่องยาก แต่ยากที่การเตรียมตัวของทุกส่วนในสังคม เพราะจะบานปลายไปถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเอดีเอสแอลโมเด็มตามบ้านเรือนทั่วไปมีกี่ เปอร์เซ็นต์ที่ใช้งานบนไอพีวี 6 ได้ หากใช้ไม่ได้ทั้งหมดก็ถือว่าประเทศจะต้องลงทุนสูงมากสำหรับเปลี่ยนระบบ




freedom


แท๊ก :

0 Comments